
ผู้ประกอบการเผย ค่าระวางเรือพุ่งสูงสุดในรอบศตวรรษ คาดค่าขนตู้ส่งออกยังอ่วม หลังเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว
นายวิฑูรย์ สันติบุญญรัตน์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA-Thai International Freight Forwarders Association) ผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ให้กับผู้ส่งออกรายย่อย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อการขึ้นค่าระวางเรือในช่วง 2 ปี (2563-2564)
โดยค่าระวางเรือหรือค่าเฟรต (freight) มีการปรับขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/64 ไม่ต่ำกว่า 200-300% เช่น การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เส้นทางไทย-สหรัฐสำหรับตู้ 40 ฟุต (ตู้ FEU-forty equivalent unit) จากเดิม 5,000 เหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 15,000 เหรียญสหรัฐ
“ถือว่าสูงสุดในรอบ 1 ศตวรรษ ค่าขนส่งแพงแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยปรับขึ้นถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ก็ไม่ได้มีการปรับค่าเรือร้อนแรงขนาดนี้ คาดว่าปีนี้ปีหน้าค่าขนตู้ส่งออกยังได้รับผลกระทบโควิดรุนแรง ทั้งค่าระวางเรือแพง และการแย่งตู้เปล่าของผู้ส่งออกไทยกับจีน”
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4/64 ประเมินว่าความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก-นำเข้าจะฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่ากับยุคก่อนโควิดในปี 2562 และดีมานด์จะสูงขึ้นเป็นลำดับในปี 2565 เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งขณะนี้มีความเชื่อมั่นจากการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้สามารถกลับมาทำธุรกิจและใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น จึงมีความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้น ถือเป็นไฮซีซั่นของการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศ โดยเฉพาะดีมานด์ช่วงตรุษจีนในปลายเดือนมกราคม 2565
“เทรนด์การฟื้นตัวของดีมานด์ขนส่งทางเรือทำให้สร้างปัญหาต้นทุนค่าขนส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้เปล่าที่จะนำมาขนสินค้าส่งออกอยู่แล้วและยังแก้ไม่ตก ในช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไปกำลังมีปัญหาใหม่งอกขึ้นมา เพราะสถานการณ์โควิด แม้รัฐบาลทุกประเทศในโลกมีนโยบายเปิดประเทศแต่ก็ยังมีมาตรการควบคุมโควิด ณ ท่าเรืออยู่ดี ทำให้เกิดปัญหาท่าเรือแออัด” นายวิฑูรย์กล่าว