Friday, 29 March 2024

ประชาชนภาคใต้แนะรัฐยกระดับคุมโอไมครอน – โพสต์ทูเดย์ ข่าวภูมิภาค


ประชาชนภาคใต้แนะรัฐยกระดับคุมโอไมครอน

วันที่ 01 ธ.ค. 2564 เวลา 07:28 น.

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ ม.หาดใหญ่ เผยดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนภาคใต้ พ.ย.64 แนะรัฐบาลยกระดับคุมโอไมครอนเร่งด่วน

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนพฤศจิกายน (41.60) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม (40.20) เดือนกันยายน (39.70)

โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว การออมเงิน การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ปัจจัยบวกที่ส่งผล คือสถานการณ์โควิด -19 เดือนพฤศจิกายนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดือนตุลาคม เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทรงตัว สถานการณ์เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ส่งผลให้มีการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด 19 และการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

“หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ และไม่กลับมาระบาดอย่างรุนแรง จนทำให้ต้องเกิดการล็อกดาวน์อีก ย่อมจะเป็นปัจจัยหนุนที่ดีสำหรับทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในปลายปีนี้และต้นปีหน้า”

และการฟื้นตัวน่าจะยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งยังมีความเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ตามสถานที่ท่องเที่ยวในหลายจังหวัด ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือกรณีที่นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ได้รับวัคซีน อาจจะต้องตรวจ ATK

นอกจากนี้ การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 นับเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนถึงความพยายามจากทุกภาคส่วนที่จะพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีคาบเกี่ยวไปถึงช่วงต้นปีถัดไป

นับว่าเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. การตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน (Omicron) ซึ่งเป็นโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 500% อีกทั้งยังเป็นเชื้อที่ต่อต้านวัคซีน และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ประชาชนจึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการเข้ามาของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทย

2. จากสถานการณ์ฝนตกหนักทั่วภาคใต้ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูมรสุม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่เสนอแนะให้ภาครัฐและหน่วยงานที่ดูแลสาธารณภัยในพื้นที่ต้องเตรียมตัว เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อได้เตรียมตัวและลดความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม

3. จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนของค่าขนส่งต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประชาชนจึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรมีมาตรการดูแลและแก้ไขที่ต้นเหตุ เพื่อลดค่าครองชีพและลดภาระค่าใช้จ่าย

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.10 และ 35.80 ตามลำดับ

ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.40 และ 34.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.10 35.40 และ 37.10 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 26.40 รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 18.70 และ15.50 ตามลำดับ

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรรีบดำเนินการ และให้ความช่วยเหลือ อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ตามลำดับ



สนับสนุนโดย ufabet | betflix | ดูซีรีย์ออนไลน์