Friday, 29 March 2024

สธ.คาดภายในปีนี้โควิดอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น – โพสต์ทูเดย์ สังคมทั่วไป


สธ.คาดภายในปีนี้โควิดอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น

วันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 18:45 น.

สธ.คาดสถานการณ์โควิดในปีนี้จะผ่านพ้นการระบาดใหญ่ไปได้จาก 3 เหตุผลสำคัญ และกลายเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนล่าสุด

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก คือ การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดน ระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม

ท้ายที่สุดแล้วหลังการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก การแพร่ระบาดจะนำไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ การที่มีโรคปรากฎหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ หรือการกระจายและการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้

ขณะเดียวกัน ช่วงหลังการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก ก็สามารถกลายเป็นโรคระบาด (Epidemic) ได้เช่นกัน คือ การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติหรือมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยตัวอย่าง โรคในประเทศไทยที่ผ่านการแพร่ระบาดใหญ่มาแล้ว เช่น โรคเอดส์ โรคไข้มาลาเรีย โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การที่โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคระบาดได้นั้น อัตราการติดเชื้อต้องคงที่ และสายพันธุ์ของโรคไม่เพิ่มมากขึ้น และอาการของผู้ป่วยมีความรุนแรงไม่มาก

ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในปีนี้น่าจะผ่านพ้นการระบาดใหญ่ไปได้ จาก 3 เหตุผล มีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม เชื้อกลายพันธุ์เป็นโอมิครอน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยลง จึงอาจสามารถควบคุมการแพร่ระบาด และคาดการณ์แนวโน้มของโรคได้

“Post Pandemic คงสามารถกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไป ซึ่งคงไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ แต่คาดการณ์ว่าเป็นภายในปีนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เหมาะสม เราจะสามารถประกาศได้เร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์ของประเทศไทย และความร่วมมือจากประชาชน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส ยังให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ในเดือนก.พ. 65 อ้างอิงจากคำแนะนำจากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 28 ม.ค. 65 ผ่านมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วันที่ 31 ม.ค. 65 ดังนี้

1. ให้สามารถฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ด้วยวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีน Viral vector เป็นเข็มที่ 2 ได้ โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

2. ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

3. เพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มมาแล้ว สามารถรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นได้

4. กรณีผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็มมาแล้ว (คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดในขณะนี้) สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป

5. เห็นชอบในหลักการให้วัคซีนซิโนแวคในผู้ที่มีอายุ 3-17 ปี (ขณะนี้รอการขึ้นทะเบียน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะแจ้งแนวทางการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว

ส่วนแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 เดือนก.พ. 65 ปรับปรุงเพิ่มเติมตามคำแนะนำการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขผ่านมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้นการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วันที่ 31 ม.ค. 65 ดังนี้

1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 7 ล้านโดส สำหรับ

1.1 ฉีดเป็นเข็มที่ 1 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ตามสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์

1.2 ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ในผู้ที่ได้รับวัคชีนสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า (ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์)

1.3 ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ตามสูตรซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ซิโนแวค-ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า หรือแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า (เป็นทางเลือกเพิ่มเติม)

1.4 ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป และมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (ข้อ 1.1)

2. วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีม่วงสูตรสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) จำนวน 2.6 ล้านโดส สำหรับ

2.1 ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ตามสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์

2.2 ฉีดเป็นเข็มที่ 1 และ 2 ในผู้ที่อายุ 12-17 ปี ตามสูตรไฟเซอร์-ไฟเซอร์

2.3 ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคชีนครบตามเกณฑ์ ตามสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ หรือผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ตามสูตรซิโนฟาร์ม-ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์ (หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป)

2.4 ผู้ที่อายุ 12-17 ปี และมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (ข้อ 2.2)

3. วัคซีนไฟเซอร์ (ฝ่าสีส้มสูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี) จำนวน 1.2 ล้านโดส

4. สำรองสำหรับตอบโต้การระบาดด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1 ล้านโดส



สนับสนุนโดย ufabet | betflix | ดูซีรีย์ออนไลน์