Friday, 29 March 2024

‘หมอธีระ’ ชี้ ‘ลองโควิด’ ส่งผลระบบประสาทยาวนานถึง 1 ปี


‘หมอธีระ’ ชี้ ‘ลองโควิด’ ส่งผลระบบประสาทยาวนานถึง 1 ปี

วันที่ 18 ก.ค. 2565 เวลา 09:46 น.

‘หมอธีระ’ เผยผลวิจัยชี้ภาวะ ‘ลองโควิด’ อาจลากยาวนานเป็นระยะเวลาถึง 1 ปี แม้หายแล้ว แต่พบมีอาการทางระบบประสาท มีปัญหาเรื่องสมาธิ และอ่อนเพลียบ่อย

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat เกี่ยวกับเรื่องอาการ ‘ลองโควิด’ ไว้น่าสนใจ พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้นจะมีอาการลองโควิดยาวนานได้ถึง 1 ปีเลยทีเดียว

“ศูนย์ควบคุมโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า ผู้ติดโควิด-19 โดยรวมมีอาการลองโควิดยาวนานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปถึง 13.3% ส่วนผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะมีภาวะลองโควิดมากว่า 30% เมื่อประเมิน 6 เดือน

ส่วนที่ประเทศเยอรมนี พบว่ามีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการคงค้างพบบ่อยนาน 6-12 เดือนหลังจากติดเชื้อ โดยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่นปวดหัว เวียนหัว มึนงง มีปัญหาด้านสมาธิหรือความจำ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และมีปัญหาการนอนหลับ

โดยเนื้อหาทั้งหมด ระบุว่า 17 กรกฎาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 589,541 คน ตายเพิ่ม 683 คน รวมแล้วติดไป 567,004,051 คน เสียชีวิตรวม 6,386,603 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 54.17

สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

อัพเดต Long COVID 1. Long COVID ในอเมริกา US CDC ระบุในเว็บไซต์เมื่อ 11 กรกฎาคม 2565 ว่า ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยรวมนั้นพบว่ามีปัญหา Long COVID ยาวนานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปราว 13.3% ในขณะที่ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น จะประสบภาวะ Long COVID ได้มากกว่า 30% เมื่อประเมิน ณ 6 เดือน

2. Long COVID ในเยอรมัน Bahmer T และคณะ เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการแพทย์สากล eClinicalMedicine วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ศึกษาในกลุ่มผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเยอรมัน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 ถึงกันยายน 2564 จำนวนกว่าพันคนจาก Kiel และ Würzburg/Berlin

โดยใช้แบบประเมินระดับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ (PCS score) พบว่าอาการคงค้างที่พบบ่อยนาน 6-12 เดือนหลังจากติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ได้แก่ อาการผิดปกติทางระบบประสาท (เช่น ปวดหัว เวียนหัว มึนงง มีปัญหาด้านสมาธิหรือความจำ) (61.5%) อาการเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย (57.1%) และปัญหาในการนอนหลับ (57%)

ผลการวิจัยของเยอรมันนี้ อย่างน้อยก็จะมีประโยชน์ให้เราใช้สังเกตอาการที่พบบ่อยเหล่านี้ ใช้ประเมินตนเองหรือคนใกล้ชิด หากประสบปัญหาติดเชื้อมาก่อน และไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษา

การใส่หน้ากากระหว่างตะลอนนอกบ้าน พยายามเว้นระยะห่างจากคู่สนทนา เลี่ยงที่แออัดหรืออับลม และการปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายถ่ายเทอากาศให้ดีขึ้น เช่น เปิดพัดลม เปิดประตูและหน้าต่าง เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงระหว่างดำเนินชีวิตประจำวัน ทำมาค้าขาย และศึกษาเล่าเรียนได้

เพราะไวรัสจะเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของมันไปเรื่อยๆ โดยยังไม่สามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงได้แม่นยำ สถานการณ์ระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวให้ดีและสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง”



สนับสนุนโดย ufabet | betflix | ดูซีรีย์ออนไลน์